Croissant
1.กว่าจะมาเป็นครัวซองต์เล่ากันว่า
แท้จริงแล้วครัวซองต์มีต้นกำเนิดมาจากกรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย ถูกดัดแปลงมาจาก “คิปเฟล (Kipferl)” ขนมรูปทรงพระจันทร์เสี้ยว ตามชื่อคิปเฟลที่แปลว่า “พระจันทร์เสี้ยว” ในภาษาเยอรมัน เกิดขึ้นช่วงราว ๆ ปี 1683 จากเหตุการณ์สงครามระหว่างเติร์กและเวียนนาโดยจักรวรรดิออตโตมันของชาวเติร์กได้ส่งกองทัพไปปิดล้อมเพื่อยึดกรุงเวียนนา ตีเมืองอยู่หลายครั้งหลายเดือนก็ยังไม่สามารถทำลายกำแพงเมืองกรุงเวียนนาได้ จนกองทัพชาวเติร์กได้คิดกลอุบายขุดอุโมงค์ลอดใต้กำแพงเมืองเพื่อให้เข้าโจมตีเมืองได้ ซึ่งเหล่าเชฟเบเกอรีและคนทำขนมปังในกรุงเวียนนารับหน้าที่เข้าเวรกะดึกพอดีเลยได้ยินเสียงขุดเจาะอุโมงค์ของทหารเติร์ก จึงได้ส่งสัญญาณเตือนกับทหารรักษาเมืองผนึกกำลังกับกองทัพของกษัตริย์จอห์นที่สามแห่งโปแลนด์ มาขับไล่กองทัพของออตโตมันจนสามารถป้องกันและรักษากรุงเวียนนาไว้จนได้ หลังจากชัยชนะครั้งนั้น เหล่าเชฟเบเกอรีและคนทำขนมปังในกรุงเวียนนาจึงได้จัดงานเฉลิมฉลองด้วยการทำขนมปังรูปพระจันทร์เสี้ยวเลียนแบบสัญลักษณ์บนธงของเติร์ก และเรียกขนมปังดังกล่าวว่า “คิปเฟล (Kipferl)” นั่นเองต่อมาในช่วงปี 1770 หลังจากพระนางมารี อ็องตัวแน็ต เจ้าหญิงจากกรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย เข้าพิธีอภิเษกสมรสกับพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 แล้วทรงย้ายมาประทับอยู่ที่ประเทศฝรั่งเศส ด้วยความคิดถึงบ้านเกิดและขนมคิปเฟล จึงสั่งให้พ่อครัวทำขนมคิปเฟลขึ้นมา จนข่าวนี้แพร่กระจายออกไป ทำให้คิปเฟลเป็นที่รู้จักมากขึ้น และกลายเป็นเทรนด์ขนมของเหล่าราชวงศ์และชนชั้นสูงฝรั่งเศส ซึ่งคิปเฟลที่พ่อครัวทำใช้กรรมวิธีแบบใหม่จึงมีเนื้อสัมผัสที่ต่างไปจากเดิม จึงมีการแปลงโฉมคิปเฟลใหม่เป็น “ครัวซองต์ (Croissant)” และเกิดความนิยมไปทั่วประเทศฝรั่งเศส ฉะนั้นถ้าจะบอกว่ารครัวซองต์เกิดในประเทศฝรั่งเศสก็ไม่ได้ผิดแต่อย่างใด แต่ถ้าลงลึกว่าครัวซองต์ได้แรงบันดาลใจมาจากคิปเฟล ซึ่งเป็นของชาวออสเตรียก็จะยิ่งเข้าใจขนมอบชนิดนี้มากยิ่งขึ้น
ครัวซองต์จึงมีชื่อเสียงและได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ ในช่วงปี 1839 ทหารออสเตรียชื่อว่า August Zang เจ้าของร้านขนมเบเกอรี Boulangerie Viennoise คนแรกที่เปิดร้านเบเกอรีแบบเวียนนาขึ้นในกรุงปารีส ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญทำขนมคิปเฟล จึงได้ดัดแปลงคิปเฟลด้วยการใช้แป้งที่แตกต่างจากขนมแบบดั้งเดิม จนมีลักษณะคล้ายครัวซองต์มากขึ้น ซึ่งคิปเฟลในแบบของ August Zang สร้างแรงบันดาลใจให้กับเชฟขนมอบชาวฝรั่งเศสมากมาย โดยเฉพาะ Sylvain Claudius Goy คนทำขนมปังชาวฝรั่งเศสที่ได้นำมาต่อยอดและปรับสูตร โดยการใช้ยีสต์ เนย พร้อมวิธีอบครัวซองต์ใหม่ในปี 1915 จนกลายเป็นครัวซองต์ในรูปแบบที่เราได้เห็นและกินกันอย่างในปัจจุบันนี้
2.คิปเฟล (Kipferl) VS ครัวซองต์ (Croissant) ต่างกันยังไง?
อย่างที่เราได้เล่าไปในข้างต้น ว่าวิวัฒนาการครัวซองต์นั้นมาจากขนม “คิปเฟล (Kipferl)” เป็นขนมเก่าแก่มีรูปทรงแบบพระจันทร์เสี้ยว ในอดีตเล่ากันว่าจะมีทั้งแบบแป้งเพียว ๆ ไม่มีไส้ และแบบที่มีไส้โดยใส่ถั่วผสมเข้าไป ส่วนเนื้อของขนมคิปเฟลนั้นจะมีผิวที่เรียบเนียน ไม่ฟู และไม่กรอบหลายปีต่อมาจึงมีการต่อยอดและปรับสูตรไปตามยุคสมัย โดยการใช้แป้งครัวซองต์แบบใหม่ เพิ่มนม ยีสต์ เนย พร้อมด้วยวิธีการอบให้กรอบ และมีเทกซ์เจอร์มากยิ่งขึ้น ซึ่งมาตรฐานของครัวซองต์ที่ควรมีก็คือมีความฟูพอง ผิวด้านนอกบาง กรอบ เนื้อสัมผัสข้างในต้องเหนียวนุ่ม และมีกลิ่นหอมของเนยไปทั่วทั้งชิ้น มีความแตกต่างกันจากอดีตค่อนข้างมาก แต่ที่ยังคงมีเหมือนกันคือรูปทรงลักษณะที่เป็นพระจันทร์เสี้ยวอยู่
3.คำนิยามของครัวซองต์ที่ดี
4.ชนิดของครัวซองต์
ตอนนี้ถ้าเราเดินเข้าไปในคาเฟ่และร้านเบเกอรีต่าง ๆ ก็จะเจอครัวซองต์หลายแบบ หลายรสชาติ แตกต่างกันไปตามซิกเนเจอร์ของแต่ละร้าน แต่ที่เราได้เห็นกันบ่อย ๆ ในประเทศไทยก็คงจะหนีไม่พ้น “Plain Croissant” หรือ "Straight Croissant" ครัวซองต์เบสิกแบบปกติ Classic สุด ๆ เนื้อสัมผัสกรอบนอก นุ่มใน ตรงกลางหนาอวบ และข้างในไม่มีไส้ คนฝรั่งเศสมักจะพูดติดตลกว่าร้านไหนครัวซองต์ดีให้สังเกตกางเกงของคนฝรั่งเศสหลังมื้อกลางวัน เพราะแทบทุกคนจะมีเศษของครัวซองต์ติดอยู่
โดยยังคงมี "Crescent Croissant" หรือรูปพระจันทร์เสี้ยวคล้าย ๆ แบบดั้งเดิม หยิบกินง่าย ไม่หกเลอะเทอะ แถมราคาถูกกว่าแบบตรงเยอะ แต่จริง ๆ แล้วความลับก็คือครัวซองต์รูปแบบนี้มีวัตถุดิบอย่างนึงที่ทำให้ความหมายต่างไปจากครัวซองต์แบบดั้งเดิม ถึงขั้นที่คนฝรั่งเศสใช้วัดความเป็นครัวซองต์แท้ ๆ เลยทีเดียว ซึ่งความหมายของรูปทรงนั้นเราขออุบไว้ก่อน และจะมาเฉลยกันในข้อถัดไปค่ะ
จากนั้นก็มีการดัดแปลงมาจนกำเนิดเกิดเป็น "Diamond Croissant" ที่ฮิตมากในปัจจุบันไม่แพ้กัน พบเห็นได้ตามร้านค้าทั่วไป แถมยังเป็นทรงที่นิยมนำมาดัดแปลงใส่ไส้ใหม่ ๆ ได้มากที่สุด ก็เพราะด้วยตัวรูปทรงที่กว้างกว่าแบบตรง เอื้อต่อการรังสรรค์ไส้คาวหวานอันแปลกใหม่ลงไปนั่นเอง
หรือบางคนอาจเคยเจอ “Laugen Croissant” เป็นครัวซองต์คล้าย ๆ Plain Croissant แต่จะมีการเพิ่มเนยแบบเข้มข้นเข้าไปและทำให้สีของครัวซองต์เข้มขึ้นกว่าปกติ ออกไปทางน้ำตาลถึงเข้ม หรือบางที่ก็เรียกว่า “Pretzel Croissant” เพราะว่าสีของครัวซองต์จะเหมือนกับสีของเพรทเซลนั่นเอง
นอกจากนี้ บางร้านยังมี “Flaky Croissant” เป็นครัวซองต์เนยสดที่มีเทกซ์เจอร์เนื้อสัมผัสคล้ายเพสตรี มีความเบากว่า พองฟูกว่า และกรอบกว่าแบบปกติ รวมไปถึงครัวซองต์ไส้คาวหวานต่าง ๆ ที่กำลังฮิตอยู่ในตอนนี้ อย่างเช่น “Almond Croissant”, “Chocolate Croissant”, “Salted Egg Lava Croissant” และ “Ham Cheese Croissant” ที่ตัดแต่งแป้งให้เห็นไส้อย่างชัดเจน
5.ทำไมรูปร่างครัวซองต์ถึงแตกต่างกัน?
ต่อไปนี้เราจะขอไขความกระจ่างให้ทุกคนเองว่าตกลงแล้ว ทำไมครัวซองต์ถึงมีรูปร่างต่างกัน ถึงแม้ว่าต้นกำเนิดของครัวซองต์จะมีรูปร่างเป็นพระจันทร์เสี้ยวอย่าง คิปเฟล แต่สุดท้ายแล้วคนฝรั่งเศสกลับไม่ยอมรับครัวซองต์รูปร่างพระจันทร์เสี้ยว นั่นก็เพราะมีการแบ่งชนชั้นชัดเจนว่าแบบพระจันทร์เสี้ยว หรือ "Crescent Croissant" นั้นจะใช้มาการีน เนยหรือไขมันเทียม ในขณะที่ "Straight Croissant" และ "Diamond Croissant" จะใช้เนยแท้เท่านั้น กัดไปแล้วต้องส่งกลิ่นหอมเนยทั่วทั้งชิ้น ถึงขนาดว่า Connoisseurs (ผู้เชี่ยวชาญด้านรสชาติอาหาร) ยังยืนยันว่าเราควรกินเฉพาะครัวซองต์ที่ทำจากเนยแท้ ทำเองที่บ้าน (fait maison) และอบในเช้าวันนั้น
6.How do Parisian eat croissants?
อันนี้เราเองที่ไม่ใช่ชาวปารีเชียงคงไม่อาจหาญมาตอบเองได้ เลยต้องขอหยิบยกคำตอบของคุณ Eric Kayser มากล่าวถึงอีกรอบ ดังนี้ว่า "คนฝรั่งเศสกินครัวซองต์เป็นอาหารเช้า จิ้มกับกาแฟ นม หรือโยเกิร์ต ซึ่งเป็นอาหารเช้าที่ดีที่สุดของเรา" แอบบอกอีกนิดนึงพอเป็นเกร็ดความรู้เล็ก ๆ น้อย ๆ ว่าชาวฝรั่งเศสนิยมทาเนยลงบนครัวซองต์เพื่อเพิ่มความอร่อยด้วยนะ ในขณะเดียวกันชาวฝรั่งเศสบอกว่าการกินครัวซองต์กับน้ำผึ้งและแยมกลับทำให้รสชาติครัวซองต์แบน เพราะความหวานจะไปลดมิติของสัมผัสของครัวซองต์ รวมถึงของโปรดของใครหลายคนอย่างช็อกโกแลตด้วย นั่นก็เพราะช็อคโกแลตนมส่วนใหญ่มีไขมันมากเกินไป เวลาที่ครัวซองต์อุ่น ช็อกโกแลตเหล่านี้จะเปลี่ยนคำแต่ละคำให้กลายเป็นก้อนแข็ง ๆ เสียความอร่อยได้ (แต่ในปัจจุบันนี้เราเข้าใจดีเลยว่า ครัวซองต์ช็อกโกแลตนั้นอร่อยมากกก โดยเฉพาะไส้นูเทลล่า เพราะฉะนั้นเราไม่ติดเลย ถ้าเราจะมองข้ามประเพณีเดิม ๆ แล้วเพลิดเพลินกับรสชาติใหม่ ๆ ดูบ้าง ก็เหมือนเมนูกระเพราฝั่งบ้านเราที่บางคนอาจจะไม่ชอบให้ใส่ถั่วฝักยาว ข้าวโพด แครอท แต่จริง ๆ แล้วกระเพราก็เป็นเมนูคู่บ้านคู่เมืองที่มีวิวัฒนาการและมีความหลากหลายในตัวมันเองนั่นแหละทุกคน)
7.ส่วนประกอบสำหรับทำครัวซองต์
สูตร Classic Croissant โดย Jeffrey Hamelman
(มีการเปลี่ยนหน่วยเมตริกมาใช้กรัม เพื่อให้ง่ายต่อการตวง)
สำหรับแป้งโดว์
แป้งฝรั่งเศส T55 หรือแป้งอเนกประสงค์ไม่ฟอกขาว 500 กรัม
น้ำเย็น 140 กรัม
นมเย็น 140 กรัม
น้ำตาลทราย 55 กรัม
เนยจืด 40 กรัม แนะ
ยีสต์ 11 กรัม
เกลือ 12 กรัม
ส่วนผสมอื่น ๆ
เนยจืด 280 กรัม (เนยแช่เย็น สำหรับขึ้นรูป)
ไข่ 1 ฟอง (สำหรับทาผิวครัวซองต์ก่อนอบ)
Noted : เนยจืดแนะนำเป็น AOP butter (Appellation d’Origine Protégée in French) คือเนยฝรั่งเศสที่การันตีคุณภาพว่า ผลิตจากแหล่งผลิตเฉพาะและวิธีการผลิตเฉพาะแบบดั้งเดิม (เนยแบบบ่ม) หรือควรใช้เป็นเนยที่เขียนบนฉลากว่า 'Butter Fat' อย่างน้อย 82% ทั้งนี้ก็เพื่อให้ครัวซองต์มีชั้นสวย ไม่ฉีกขาดนั่นเอง!
8.ขั้นตอนการทำครัวซองต์ที่ดีที่สุด
จริง ๆ แล้วคลาสสิกครัวซองต์จะใช้เวลาทำทั้งหมด 3 วัน แต่เราเข้าใจทุกคนมาก ๆ ว่าไลฟ์สไตล์ของคนยุคใหม่อาจจะไม่มีเวลาเยอะขนาดนั้น ใครอยากยุบรวมเป็นสูตร 1 วัน, สูตร 2 วัน ก็สามารถทำได้เช่นกัน เพียงแต่ความแตกต่างจะอยู่ที่เนื้อด้านในครัวซองต์ เพราะสูตร 3 วัน เราจะได้ครัวซองต์ที่ดีที่สุด มีรูอากาศใหญ่และแบ่งชั้นสวย ผิวนอกกรอบ และสมดุลของรสชาติเนยที่เพอร์เฟ็กเท่านั้นเองค่า
มาเริ่มกันเลย!
วันที่ 1 : ทำโดว์ครัวซองต์
1. ผสมส่วนผสมสำหรับแป้งโดว์ให้เข้ากัน โดยเทคนิคที่อยากแอบบอกคือให้ละลายน้ำตาลกับน้ำหรือนมก่อน ระวังอย่าให้ยีสต์และน้ำตาลโดนกันนะ เพราะยีสต์มีคุณสมบัติในการเปลี่ยนน้ำตาลให้เป็นคาร์บอนไดออกไซด์และแอลกอฮอล์ได้
2. นวดให้เข้ากัน นวนเนียนจนส่วนผสมไม่ติดโถ (ถ้านวดน้อยเกินไปแป้งไม่เนียน เนยจะรั่วได้)
3. รีดแป้งเป็นแผ่นแบน ๆ เพื่อให้ใช้งานต่อได้ง่ายในวันพรุ่งนี้ จากนั้นให้ทำการ wrap ให้ดีและแช่เย็นทิ้งไว้ข้ามคืน
วันที่ 2 : การเข้าเนย
4. นำเนย 280 กรัมที่เราแช่เย็นเตรียมไว้ มาตัดให้มีความหนาประมาณ 1.25 เซนติเมตร นำมาวางเรียงบนกระดาษไขจากนั้นนวดและทุบเนยจนได้รูปสี่เหลี่ยมกว้างประมาณ 17x17 เซนติเมตร ห่อกระดาษไขให้เรียบร้อย แล้วนำไปแช่เย็น เตรียมไว้ใช้ในขั้นตอนต่อไป
5. นำแป้งมารีดให้มีความหนาเท่ากันทั่วทั้งแผ่น จากนั้นนำเนยออกมาเรียง แล้วพับแป้งปิดเนยให้สนิทแบบ Letter Fold ใช้นิ้วกดตามรอยต่อเบา ๆ เพื่อปิดตะเข็บรอยแป้ง
Noted : การรีดแป้งแต่ละครั้งไม่ควรใช้เวลาเกิน 2-3 นาที เพื่อรักษาความเย็นให้เนยแข็งตัว
6. เริ่มรีดแป้ง โดยเริ่มจากตรงกลางไปที่ขอบ เพื่อให้แป้งมีความหนาสม่ำเสมอกัน รีดจนได้สี่เหลี่ยมผืนผ้าให้พับแป้งสามทบ นำไปแช่ตู้เย็น 20-30 นาที ทำขั้นตอนนี้ซ้ำทั้งหมด 3 ครั้ง หลังจากรีดแป้งรอบที่สาม เราจะพักแป้งไว้ในตู้เย็นข้ามคืนเลย
Noted : เวลาที่รีดแป้ง ควรหมุนแป้ง 90 องศา ให้ส่วนที่เห็นชั้นเนยหันเข้าหาตัวทุกครั้ง
วันที่ 3 : ตัดแบ่ง-ขึ้นรูป
7. นำแป้งออกมารีดให้ได้ขนาดประมาณ 20x110 เซนติเมตร แล้วให้ตัดแป้งเป็นทรงสามเหลี่ยม และให้กรีดที่ฐานของสามเหลี่ยมแต่ละชิ้นประมาณ 1.5 เซนติเมตร
8. ม้วนแป้งโดยเริ่มจากฐานสามเหลี่ยมจนเกิดเป็นรูปครัวซองต์
9. ก่อนนำไปอบให้ทาไข่เคลือบผิวบาง ๆ แล้วนำไปอบที่อุณหภูมิ 200 องศาเซลเซียส 18-20 นาที โดยสามารถนำออกจากเตาก่อนเวลาได้ ถ้าครัวซองต์เป็นสีเหลืองทองถูกใจแล้ว
9.National Croissant Day
แล้วเพื่อน ๆ รู้ไหมคะว่าขนมอบระดับตำนานอย่างครัวซองต์ ก็มีวันแห่งชาติกับเขาด้วยนะ กับ “National Croissant Day” ซึ่งตรงกับวันที่ 30 มกราคมของทุกปี ที่มาของการตั้งวัน Crossiant Day นั้นเป็นการรำลึกถึงชัยชนะของสงครามระหว่างเติร์กและเวียนนา ที่ทำให้เกิดต้นตระกูลของครัวซองต์ รวมไปถึงการให้เครดิตนายทหารชาวออสเตรีย August Zang เจ้าของร้านเบเกอรีสไตล์เวียนนาร้านแรกในกรุงปารีส ผู้ริเริ่มตั้งต้นที่ทำให้คนได้เริ่มรู้จักครัวซองต์มาจนถึงทุกวันนี้
10.ร้านครัวซองต์ที่ต้องไปลอง!
อ่านมาจนถึงตรงนี้แล้ว เพื่อน ๆ หลายคนคงจะเริ่มรู้สึกอยากลิ้มลองความหอมกรุ่นของเนย และสัมผัสกรอบนอกนุ่มในของครัวซองต์กันแล้วใช่ไหมล่ะ! 30 ร้านครัวซองต์กรอบฟิน หอมเนยกรุ่นถึงใจ ที่ต้องตามไปลองกัน! มาให้แล้วถึงที่ ทุกร้านการันตีด้วยความสดใหม่ พิถีพิถันทุกขั้นตอน แถมยังประยุกต์ออกมาเป็นหลากหลายไส้ใหม่ ๆ ใครไม่อยากพลาดร้านดี ๆ อย่าลืมไปลองกินให้รู้ว่าจะฟินจริงรึเปล่า!
11.ครัวซองต์ยังไปต่อได้อีกไกล
ใครว่าอนาคตของครัวซองต์จะไปได้แค่ไส้ที่หลากหลาย แปลกใหม่ให้เราถ่ายรูปลงโซเชียลอย่างเดียวเท่านั้น ยังไม่พอค่ะเพราะทุกวันนี้แม้แต่ขนมที่เรามองไม่ออกแล้วว่าเป็นครัวซองต์ จริง ๆ แล้วกลับเป็นลูกครึ่งครัวซองต์! แถมในอนาคตก็คงไม่มีใครรู้ว่าหน้าตาของครัวซองต์นั้นจะไปได้อีกไกลขนาดไหน!
เค้กแครอท+ครัวซองต์
ดูเพิ่มเติมได้ที่ร้าน : Lune Croissanterie
Cragel (Bagel+Croissant)
Cruffin (Muffin+Croissant)
ดูเพิ่มเติมได้ที่ร้าน : Bruno and Mo และ Mr. Holmes Bake House
Cronut (Donut+Croissant)
ดูเพิ่มเติมได้ที่ร้าน : CPS Coffee
Croffle (Waffle+Croissant)
ดูเพิ่มเติมได้ที่ร้าน : Coffeas
ซาวโดว์ครัวซองต์
ดูเพิ่มเติมได้ที่ร้าน : The Baking Bureau และ Conkey's Bakery
ทรัฟเฟิลครัวซองต์
ดูเพิ่มเติมได้ที่ร้าน : Xcuzine by Seen Bangkok และ Café Kantary
12.สรุป ดีจริงหรือแค่กระแส ?
ทีนี้ก็รู้จักประวัติศาสตร์ครัวซองต์พอหอมปากหอมคอกันแล้ว แต่ถ้ายังไม่จุใจงานนี้ น้ำฝน จะพาเราไปไขคำตอบ เจาะปรากฎการณ์ "ครัวซองต์" ครองเมือง ยั่งยืนหรือแค่กระแส?! กันต่อ มาร่วมตอบคำถาม ไขข้อสงสัยไปพร้อม ๆ กันเร็ว ๆ นี้ที่เพจเฟซบุ๊ก Wongnai Vibes รับรองว่าดูเพลิน ๆ หอมหวนชวนหิวไปกับกลิ่นครัวซองต์แน่นอน!!
โอ้โห! ไม่น่าเชื่อเลยนะคะว่าแค่ขนมอบชิ้นเล็ก ๆ แบบครัวซองต์จะมีตำนานความเป็นมาได้ยาวนานและมากมายขนาดนี้ ได้อ่านสตอรีทั้งหมดแล้ว รู้สึกเลยว่ากว่าจะได้มาเป็นครัวซองต์จนถึงทุกวันนี้ มันต้องผ่านเรื่องราวต่าง ๆ รวมทั้งกรรมวิธีที่ซับซ้อนและพิถีพิถันมากจริง ๆ จึงไม่แปลกใจเลยค่ะว่าทำไมครัวซองต์ถึงฮอตฮิตติดลมบนมาตั้งแต่สมัยอดีตจวบจนมาถึงปัจจุบันได้
ที่มา https://www.wongnai.com/food-tips/the-history-of-croissant
Good
ตอบลบความคิดเห็นนี้ถูกผู้เขียนลบ
ตอบลบ